ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: ไอกรน (Pertussis/Whooping cough)  (อ่าน 25 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 153
  • โปรโมทสินค้าฟรี,เว็บลงโฆษณาฟรี
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: ไอกรน (Pertussis/Whooping cough)
« เมื่อ: วันที่ 27 เมษายน 2025, 12:34:00 น. »
Doctor At Home: ไอกรน (Pertussis/Whooping cough)

ไอกรน (ไอ 3 เดือน ไอร้อยวัน ก็เรียก) เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กอายุ 2-6 ปี พบมากในฤดูฝน บางครั้งอาจพบระบาดตามหมู่บ้านหรือโรงเรียน

ในปัจจุบันพบได้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากเด็ก ๆ ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้อย่างทั่วถึง

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไอกรน ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย มีชื่อว่า บอร์เดเทลลาเพอร์ทัสซิส (Bordetella pertussis) เชื้อนี้มีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อเข้าทางเดินหายใจโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองของน้ำลายหรือเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด หรือออกมาแขวนลอยอยู่ในอากาศ หรือโดยผ่านมือที่สัมผัสถูกสิ่งที่ปนเปื้อน น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย

ระยะฟักตัว 6-20 วัน (ส่วนใหญ่ 7-10 วัน)


อาการ

แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

1. ระยะเป็นหวัด มีไข้ต่ำ ๆ น้ำมูกไหล จาม และไอคล้ายไข้หวัด อาการไอจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเข้าสู่ระยะที่สอง ระยะนี้จะนานประมาณ 7-14 วัน

2. ระยะไอรุนแรง มีอาการไอติดต่อกันครั้งละนาน ๆ จนตัวงอและหายใจแทบไม่ทัน เมื่อหยุดไอจะหายใจเข้ายาว ๆ เสียงดังวู้บ (ยกเว้นทารกต่ำกว่า 6 เดือน อาจไม่มีอาการนี้) และมักจะอาเจียนมีเสมหะออกมาด้วยเสมอ ในรายที่ไอรุนแรง หน้าจะเขียว ตาโปนแดง หลอดเลือดที่คอโป่ง บางรายอาจไอจนหลอดเลือดฝอยที่ไต้เยื่อบุตาแตก เห็นเป็นปื้นแดงที่ตาขาว และอาจพบรอย บวม ช้ำ หรือห้อเลือดที่หนังตาด้วย

ในเด็กเล็กอาจมีอาการชักเกร็ง หยุดหายใจ ตัวเขียว เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง

อาการไอเป็นชุดดังกล่าวมักจะเป็นมากตอนกลางคืน หรือถูกอากาศเย็น ดื่มน้ำเย็นจัด ถูกควันบุหรี่หรือถูกฝุ่น

ระยะนี้จะนานประมาณ 1 เดือน แต่จะเป็นมากในช่วง 2 สัปดาห์แรก ผู้ป่วยมักพบแพทย์ในระยะนี้ด้วยอาการไอดังกล่าว ส่วนใหญ่จะไม่มีไข้ ยกเว้นรายที่มีโรคปอดอักเสบแทรกซ้อน

3. ระยะพักฟื้น อาการไอจะค่อย ๆ ลดน้อยลงกินข้าวได้มากขึ้น น้ำหนักขึ้น แต่ถ้ามีโรคแทรกซ้อน เช่น หลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบ ก็อาจไอติดต่อกันนานถึง 3 เดือน จึงเรียกว่า ไอ 3 เดือน หรือไอร้อยวัน


ภาวะแทรกซ้อน

ที่สำคัญ คือ ปอดอักเสบ ซึ่งเกิดจากมีเชื้อแบคทีเรียตัวอื่นเข้าแทรกซ้อน และเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญในกลุ่มผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี

อาจทำให้เกิดอาการชักเกร็ง และหยุดหายใจถึงตายได้ เนื่องจากสมองขาดออกซิเจนระหว่างที่ไอนาน ๆ มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี

อาจพบหลอดลมอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ปอดแฟบ (atelectasis)

ในรายที่ไอรุนแรง มักมีเลือดออกที่ใต้ตาขาว (เห็นเป็นปื้นแดง) หรือทำให้ขอบตาเขียวช้ำ บางครั้งอาจมีเลือดออกในสมองหรือในลูกตา แต่พบไม่มาก

อาจทำให้โรคบางอย่างที่มีอยู่ก่อนแล้ว เช่น ไส้เลื่อน สะดือจุ่น โรคหัวใจ เป็นต้น กำเริบจนอาจเป็นอันตรายได้

ในผู้ใหญ่อาจไอแรงจนกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้ กระดูกซี่โครงหัก หมองรองกระดูกเคลื่อน

ผู้ที่มีเชื้อวัณโรคซ่อนเร้นอยู่ก่อน อาจมีอาการวัณโรคกำเริบ เนื่องจากไอกรนทำให้ภูมิคุ้มกันโรคลดลง


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก

ในระยะแรกของโรค อาจตรวจพบไข้ต่ำ ๆ น้ำมูกไหล คล้ายไข้หวัด

ในระยะต่อมาที่มีอาการไอรุนแรง มักไม่มีไข้ คอไม่แดง และเสียงปอดปกติ อาจพบปื้นแดงที่ตาขาว หนังตาบวมฟกช้ำ อาจพบอาการไอเป็นชุด ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้

ในรายที่มีโรคปอดอักเสบ หรือหลอดลมอักเสบแทรกซ้อน  อาจมีไข้ และเวลาใช้เครื่องฟังตรวจปอดจะได้ยินเสียงกรอบแกรบ (crepitation) หรือเสียงอึ๊ด (rhonchi)

ในรายที่จำเป็นต้องวินิจฉัยให้แน่ชัด แพทย์จะตรวจเลือด (ทำการทดสอบทางน้ำเหลือง) เพื่อตรวจหาระดับสารภูมิต้านทานต่อเชื้อไอกรน หรือตรวจหาเชื้อจากบริเวณคอหอย


การรักษาโดยแพทย์

นอกจากแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ในรายที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ให้การรักษาตามอาการ เช่น ลดไข้ แก้ไอ เป็นต้น ถ้าให้ยาแก้ไอเพื่อระงับอาการไอไม่ได้ผล ให้ใช้น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำผึ้ง 4 ช้อนโต๊ะ จิบบ่อย ๆ (สำหรับเด็กอายุมากกว่ากว่า 1 ปี ไม่แนะนำให้ใช้สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี)

ส่วนยาปฏิชีวนะ มักจะให้ในระยะที่เริ่มมีอาการไม่เกิน 1 สัปดาห์ หรือในเด็กที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เริ่มป่วยเป็นโรคนี้ แต่ยังไม่เกิดอาการ ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงและโรคแทรกซ้อนลงได้ แต่ไม่ช่วยลดระยะของโรคให้สั้นลง ยาที่ใช้ เช่น อีริโทรไมซิน โคไตรม็อกซาโชล ไรแฟมพิซิน อะซิโทรไมชิน คลาริโทรไมซิน เป็นต้น

แต่ถ้ามีอาการแสดงเกิน 1-2 สัปดาห์ การให้ยาปฏิชีวนะมักไม่ได้ผล ยกเว้นในรายที่มีปอดอักเสบหรือหลอดลมอักเสบแทรกซ้อน

ส่วนอาการเลือดออกที่ตาขาว ไม่ต้องทำอะไรจะค่อย ๆ จางหายไปได้เอง

2. ในรายที่มีปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ หรือหูชั้นกลางอักเสบ ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน  โคอะม็อกซิคลาฟ, อีริโทรไมซิน, ร็อกซิโทรไมซิน เป็นต้น

3. ในทารกที่มีอาการชักเกร็ง ตัวเขียว หยุดหายใจ แพทย์จะทำการผายปอดโดยการเป่าปาก และใช้ลูกยางดูดเอาเสมหะออก และรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล

4. ถ้ามีอาการหอบหรือขาดน้ำรุนแรง แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล

5. ถ้าพบในเด็กทารกอายุต่ำกว่า 3 เดือน แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อการดูแลอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะปลอดภัย

6. ถ้าไอเรื้อรังร่วมกับน้ำหนักลด แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม อาจพบว่ามีวัณโรคกำเริบแทรกซ้อนได้

ผลการรักษา ส่วนใหญ่มักจะมีอาการไอนานเป็นเดือน ๆ (บางรายอาจนานถึง 3 เดือน) ซึ่งจะค่อย ๆ ทุเลาหายไปเอง ส่วนน้อย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี) อาจมีภาวะแทรกซ้อน ซึ่งบางรายแพทย์จำเป็นต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล


การดูแลตนเอง

1. หากมีอาการคล้ายไข้หวัด แต่มีอาการไอรุนแรง ไอติดต่อกันครั้งละนาน ๆ จนตัวงอและหายใจแทบไม่ทัน เมื่อหยุดไอจะหายใจเข้ายาว ๆ เสียงดังวู้บ หรือสงสัยว่าเป็นไอกรน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบในเด็กที่มีประวัติว่าไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรนมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นไอกรน ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามการรักษาตามที่แพทย์นัด ดังนี้
    ให้เด็กอยู่ในที่ที่อากาศปลอดโปร่ง ให้ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ เพื่อให้เสมหะใสและขับออกง่าย
    ให้อาหารทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง เพื่อลดอาการอาเจียน ถ้าอาเจียนมากให้อาหารทีละน้อย และให้ทดแทนหลังอาเจียน หรือให้น้ำเกลือผสมเอง (น้ำสุก 1 ขวด แม่โขงกลม + น้ำตาลทราย  2 ช้อนโต๊ะ + เกลือแกง 1/2 ช้อนชา)

 
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการผิดสังเกต เช่น หายใจหอบ อาเจียนมาก กินอาหารได้น้อย น้ำหนักลด เป็นต้น
    หลังกินยา มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

2. ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ควรไปพบแพทย์เพี่อทำการป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้


การป้องกัน

1. โรคนี้ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนรวมป้องกันคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTP) ตั้งแต่อายุ 2 เดือน

2. สำหรับผู้สัมผัสโรคอย่างใกล้ชิด ถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้มาก่อน ควรฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบ บาดทะยัก ไอกรนตามปกติ ถ้าเคยฉีดมาแล้ว 3 ครั้ง ควรฉีดกระตุ้นอีกครั้ง (ยกเว้นฉีดเข็มสุดท้ายมาภายใน 6 เดือน) ถ้าเคยฉีดมาแล้วอย่างน้อย 4 ครั้ง ควรฉีดกระตุ้นอีกครั้ง (ยกเว้นฉีดเข็มสุดท้ายมาภายใน 3 ปี หรืออายุเกิน 6 ปี) นอกจากนี้แพทย์จะให้ยาอีริโทรไมซินกินป้องกันนาน 14 วัน

ข้อแนะนำ

1. ควรแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติอย่างน้อย 5 วัน นับจากวันที่เริ่มให้ยาปฏิชีวนะ

2. การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคนี้ ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับไข้หวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกัน ควรหลีกเลี่ยงการอยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วย